วันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

มี Work-Life Balance Program อะไรบ้างที่น่าสนใจในอนาคต

worklife
อย่างที่ทราบๆ กันดีอยู่แล้วในหมู่นักบริหารทรัพยากรบุคคล ว่าเป้าหมายของการบริหารทรัพยากรบุคคลในแทบจะทุกยุคทุกสมัยก็คือ การสร้างแรงดึงดูด และการเก็บรักษา พนักงานมือดีไว้ให้ทำงานกับองค์กรของเรา ซึ่งในแต่ละยุคสมัยต่างก็มีเครื่องมือต่างๆ ที่นำเข้ามาใช้ เพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว ในยุคนี้ ต่อเนื่องไปถึงอนาคตข้างหน้า เครื่องมือที่เริ่มมีความสำคัญมากขึ้นในการดึงดูด และเก็บรักษาพนักงานมือดี โดยเฉพาะพนักงานในกลุ่ม Generation ใหม่ๆ ที่กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงาน ก็คือเรื่องของ Work-Life Balance นั่นเอง
วันนี้ผมก็เลยเอางาน survey อีกชิ้นหนึ่ง ที่ทำโดย Aon Hewitt ที่สหรัฐอเมริกา โดยเขียนเป็นบทความชื่อ Work-Life it’s about time โดย Carol Slade ในนิตยสาร work span ฉบับเดือน กุมภาพันธ์ 2060 ซึ่งเป็นเรื่องของ work-life balance program ว่ามีแนวโน้มอะไรบ้าง เผื่อว่าจะสามารถนำมาใช้กับบริษัทของท่านผู้อ่านได้ ซึ่ง ในมุมของผู้ทำการสำรวจเชื่อว่า work-life program ก็คือ เรื่องเวลา ก็เลยเน้นไปที่สวัสดิการในเรื่องของเวลาเป็นสำคัญ
  • Paid time off bank สวัสดิการตัวนี้ เริ่มมีแนวโน้มที่จะใช้กันมากขึ้นกว่าเดิม หลายท่ายอาจจะสงสัยว่ามันคืออะไร จริงๆ Paid time off bank ก็คือ การรวมเอาวันลาที่บริษัทจ่ายค่าจ้างให้ มารวมกันทั้งหมดในที่เดียว โดยไม่มีการกำหนดว่าเป็นลาป่วยกี่วัน พักร้อนกี่วัน หรือลากิจธุระส่วนตัวกี่วัน แต่บริษัทจะให้วันรวมทั้งหมดไว้ เพื่อให้พนักงานบริหารจัดการตนเองตามสิ่งที่ตนเองจำเป็นต้องใช้ เช่นในบ้านเรา ลาป่วยโดยได้รับค่าจ้าง คือ 30 วัน มีลาพักร้อน 6 วัน ลากิจอีก 5 วัน (สมมุติ) ถ้าเป็นของเดิมพนักงานลาป่วยหมดแล้ว ก็ต้องถูกหักค่าจ้างไปถ้าจะป่วยต่อไป แต่ถ้าเป็น Paid time off bank คิดกันง่ายๆ ก็คือ เราจะเอาวันลาทั้งหมดมารวมเป็นก้อนเดียว ก็คือพนักงานมีสิทธิลาแบบได้รับค่าจ้างรวมแล้ว 41 วันต่อปี พนักงานก็สามารถที่จะเลือกใช้ตามสถานการณ์ที่ตนเองเป็นเช่นอาจจะเป็นการลาป่วยไป 39 วันเลยก็ได้ และลากิจอีก 2 วัน เป็นต้น ด้วยวิธีการนี้ ก็จะทำให้เกิดความยืดหยุ่นในการลาของพนักงานมากขึ้น ซึ่งใน USA เริ่มเป็นที่นิยมกันมากขึ้น
  • ให้พนักงานชายลาคลอดได้ จริงๆ ไม่ได้คลอดเองนะครับ แต่จะอนุญาตให้พนักงานที่เป็นชายที่เพิ่งจะเป็นคุณพ่อ ให้ลาในกรณีที่มีลูกแรกเกิดใหม่ได้ โดยค่าเฉลี่ยของวันลาอยู่ที่ 2 สัปดาห์ เพื่อให้อยู่ช่วยภรรยาที่เพิ่งคลอดออกมา ในการเลี้ยงดูลูกน้อยที่ยังเป็นทารกอยู่ เพราะแค่แม่คนเดียวคงไม่ไหว ก็เลยเกิดสวัสดิการนี้ขึ้นมา
  • Flextime ตัวนี้บ้านเราก็เริ่มมีบ้างแล้ว ก็คือ การเปิดเวลาทำงานให้ยืดหยุ่นมากกว่าเดิม แต่ให้แต่ละวันยังคงทำงานจำนวนชั่วโมงตามที่กำหนดไว้ แต่ใน USA เริ่มที่จะเปิดให้ยืดหยุ่นมากขึ้นไปอีก กล่าวคือ จะมาทำงานกี่โมงก็ได้ในช่วงที่กว้างขึ้น เช่น ตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึง 00 น. แต่จะต้องครบตามกำหนดเวลา 8 ชั่วโมงในแต่ละวันที่มาทำงานในบริษัท เป็นต้น
  • Part-time ที่ USA เริ่มมีการให้พนักงานทำงาน Part-time กันมากขึ้น แต่จริงๆ ก็ยังคงเป็นพนักงานของบริษัท เพียงแต่เวลาทำงานไม่ต้องเข้าบริษัททุกวัน หรือเปลี่ยนสถานะภาพจากพนักงานประจำ เป็นแบบ part-time เพื่อจะได้ยืดหยุ่นในเรื่องการทำงานมากขึ้น พนักงานคนไหนอยากทำงานแบบ part-time แบบเป็นพนักงานประจำนะครับ ก็สามารถทำได้ ซึ่งบริษัทก็จะมีรูปแบบการจ่ายค่าตอบแทนไปในอีกลักษณะหนึ่ง
  • Telecommuting สวัสดิการตัวนี้ก็มีมาสักพักแล้วเช่นกัน แต่ในยุคปัจจุบันและอนาคต จะมีความสำคัญมากขึ้น ซึ่งก็คือ การให้พนักงานทำงานที่บ้านได้ โดยอาศัยเทคโนโลยีในการทำงานแทนที่จะต้องเดินทางมาทำงานที่บริษัท หรือ บางแห่งก็ให้พนักงานสามารถทำงานนอกบริษัทได้ จะไปทำงานที่ร้านกาแฟ หรือจะไปประชุมกันที่ชายหาดที่ไหนก็ได้
  • Compressed workweek สวัสดิการตัวนี้ก็คือ การสะสมชั่วโมงทำงานในแต่ละวันให้ยาวขึ้น เพื่อให้สามารถเพิ่มวันหยุดสุดสัปดาห์ได้อีก 1 วัน พนักงานบางคนอาจจะขอทำงานวันละ 10 ชั่วโมง แต่ทำ 4 วัน ใน 1 สัปดาห์ เป็นต้น
สวัสดิการในมุมของ work-life แบบนี้ เท่าที่สำรวจในการสำรวจค่าจ้างและสวัสดิการของบ้านเรานั้น ยังถือว่ามีบริษัทที่นำมาใช้น้อยมาก แทบจะนับจำนวนบริษัทได้เลย ทั้งๆ ที่ปัจจุบันนี้ สภาพแวดล้อมต่างๆ มันก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป ในทางที่เริ่มอยากให้การทำงานมีความยืดหยุ่นมากกว่าเดิม พนักงานเองก็ต้องการอิสระในการทำงานมากขึ้น ไม่ต้องการอยู่ในกฎเกณฑ์อะไรมากมาย แค่เพียงสร้างผลงานให้ได้ตามที่กำหนดไว้ก็น่าจะพอแล้ว
ก็เลยเป็นที่มาว่า ถ้าบริษัทสามารถที่จะนำเอาสวัสดิการ work-life เหล่านี้มาประยุกต์ใช้ในบ้านเราได้จริง ก็อาจจะทำให้เราสามารถที่จะดึงดูด และรักษาพนักงานที่เป็น talent ไว้ได้มากขึ้น
ก็คงต้องนำไปพิจารณาจากสภาพแวดล้อมในการทำงานของบริษัทของเราอีกทีนะครับ เพราะมันคงไม่สามารถใช้ได้ทั้งหมดอยู่แล้วครับ

ที่มา : อ.ประคัล